รมว.สุชาติ ส่งที่ปรึกษาฯ ลุยเมืองเพชร ส่งเสริมดิจิทัลสู่แรงงานพื้นที่ห่างไกล
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]()
รมว.สุชาติ ส่งที่ปรึกษาฯ ลุยเมืองเพชร ติดอาวุธเจ้าหน้าที่ ส่งเสริมดิจิทัลสู่แรงงานพื้นที่ห่างไกลกว่า 20,000 คน รู้เท่าทันเทคโนโลยี
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแนวทางและสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานโครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม
วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแนวทางและสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานโครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยมีผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้การต้อนรับ ณ โรงแรมลองบีช ชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยและเห็นความสำคัญกับแรงงานทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงมีนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาทักษะแรงงาน สร้างโอกาสและการพัฒนาศักยภาพกำลังแรงงานทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เยาวชน ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้มีทักษะความรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ ในการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ จึงได้มอบหมายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ประสานความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จัดโครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม เพื่อการสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะความรู้ด้าน ICT แก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ผู้มีรายได้น้อย และแรงงานนอกระบบ จำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน สามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน และใช้ประโยชน์ในการสร้างอาชีพและรายได้ผ่านเทคโนโลยี แบ่งพื้นที่เป็น 3 พื้นที่ ได้แก่ เป้าหมาย พื้นที่ C เป็นประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจากจุดที่มีการให้บริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 15 กิโลเมตร พื้นที่ C+ เป็นกลุ่มของประชาชนที่ห่างไกลจากจุดที่ให้บริการสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมากกว่า 15 กิโลเมตร และพื้นที่ A และ B จะเป็นกลุ่มประชาชนในเขตเมือง
นางไพลิน จินดามณีพร รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า โครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้ดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2565 มีผู้ผ่านการฝึกอบรม จำนวน 6,651 คน เนื้อหาการอบรมประกอบด้วย การสร้างโอกาสทางรายได้ผ่านเทคโนโลยี การใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดดิจิทัล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการ เป็นต้น ดังนั้น เพื่อทบทวนแนวทางการและสรุปผลการดำเนินงาน นำไปปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพตรงตามเจตนารมณ์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวให้ครอบคลุม และเกิดประโยชน์ต่อประชาชนสูงสุด จึงได้กำหนดจัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการทบทวนแนวทางและสรุปผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานโครงการความร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัล สำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคม ให้แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาค 77 จังหวัด ผู้ประสานงาน ผู้บริหารกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. รวมทั้งหมด 200 คน การจัดโครงการในครั้งนี้ จะช่วยให้บุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานสามารถวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และปรับปรุงการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ว้นที่ข่าว : 07/02/2566
|